สำหรับข้อผิดพลาดของผมพอจะสรุปได้ดังนี้ครับ
ทฤษฎีข้อ1
1. ข้อย่อยแรกผมก็พลาดเลยครับ ลืมลบส่วนโค้ง AB ออกจาก AC (ตามรูปที่โพส)
2. เนื่องจากผิดข้อย่อยแรก ทำให้ข้ออื่นๆที่ตามมาคำตอบเพี้ยนไปครับ แต่ยังดีที่ทางผู้ตรวจไม่ใช้มาตรการ Double Penalty ไม่เช่นนั้นข้อนี้คะแนนผมหายวาบเลยครับ

3. ข้อย่อยสุดท้ายผมมีข้อผิดพลาดเรื่องแนวคิดนิดหน่อยครับ (กึ่งๆจะเป็นสะเพร่า) เลยโดนหักไปอีกนิด
ทฤษฎีข้อ2
ความจริงตอนแรกผมทำข้อย่อยสุดท้ายพลาดครับ ไปใช้แนวคิดเรื่องโมเมนต์แม่เหล็กแบบผิดวิธีครับ แต่โชคดีมากๆที่ผมกลับมาแก้ทันตอนตรวจทานรอบแรกครับทำให้ข้อนี้ผมได้เต็ม
ทฤษฎีข้อ3
ข้อนี้ผมทำถูกมาตลอดเลยครับจนข้อย่อยสุดท้าย ผมก็พลาดเรื่องแนวคิดจนได้ครับ (แต่ยังไม่กล่าวตอนนี้ครับว่าพลาดอย่างไร รอให้น้องๆโพสวิธีทำมาก่อนครับ แล้วจะบอกให้ว่าผมผิดอย่างไร)
สำหรับข้อสอบทฤษฎีนั้น ผมใช้เวลาเพียง3ชั่วโมงจาก5ในการทำข้อสอบเสร็จรอบแรก ผมตรวจทานอย่างละเอียดทุกข้อๆละสองรอบ จนผมมั่นใจว่าผมคงไม่มีข้อผิดพลาดแน่ๆครับ แต่จนแล้วจนรอด ผมก็มีจุดผิดดังที่กล่าวไปครับ
ข้อสังเกตคือจุดผิดของผมนั้นไม่มีแบบที่บวกลบเลขผิด ย้ายข้างสมการผิดเลยครับ เนื่องมาจากผมตรวจทานสองรอบ ทำให้สิ่งเหล่านั้นหายไปหมด จะมีสะเพร่าก็เรื่องแนวคิดครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยากมากๆครับ เพราะเรามักจะโน้มเอียงไปตามแนวคิดที่คิดไว้ตอนแรกเสมอ นั่นคือเราไม่มองหลายมุมครับ
วิธีแก้ไขข้อผิดพลาดเรื่องแนวคิดนั้น ผมว่าควรจะแก้ที่ต้นเหตุครับ นั่นคือเราควรทำให้แนวคิดเราถูกตั้งแต่แรก ทำได้โดยการมองหลายๆมุมครับ ลองนึกหลายๆวิธี(ในหัว) แล้วเขียนวิธีที่คิดว่าถูกต้องและดีที่สุดลงในกระดาษเขียนตอบครับ คิดไม่ต้องรีบมากแต่ให้รอบคอบไว้ก่อน เอาให้มั่นใจว่าเราคิดถูกแน่ๆครับ (แต่ก็ไม่ใช่คิดจนเราทำข้อสอบไม่ทัน ต้องบริหารเวลาดีๆครับ)
แต่คนเราก็มีโอกาสผิดพลาดครับ ดังนั้นเราต้องตรวจทานข้อสอบทั้งหมดอย่างน้อย1รอบก่อนส่ง (แบ่งเวลาให้ส่วนนี้ด้วยครับถ้าทำได้) และการตรวจทานให้ตรวจทั้งความถูกต้องของสมการ(บวกลบเลข ย้ายข้าง) และเรื่องแนวคิดด้วยครับ ในการตรวจเรื่องแนวคิดให้เราลองนึกหลายๆวิธีครับ แล้วให้มั่นใจว่าวิธีที่เราเลือกนั้นถูกและดีสุดจริง
สิ่งที่อาจารย์ทุกท่านพร่ำสอนเสมอคือให้อ่านข้อสอบทั้งหมดก่อนลงมือทำครับ(อ่านทั้งสามข้อใหญ่เลย) จะทำให้เราเลือกทำข้อที่เรามั่นใจที่สุดว่าได้คะแนนแน่ๆ และเก็บยากๆไว้ทีหลังครับ ทำให้เราบริหารเวลาและเก็บคะแนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของข้อสอบปฏิบัติการนั้นพอจะสรุปข้อผิดพลาดรวมทั้งหมดได้ดังนี้ครับ
1. การเขียนของผมนั้น ตอนแรกๆเขียนเรียบร้อยมากครับ แต่พบว่า"เรียบร้อยเกินจำเป็น" นั่นคือผมทำช้าเกินไปในส่วนที่ไม่จำเป็นครับ ทำให้ผมเหลือเวลาทำส่วนลงมือทดลองน้อย
2. ถ้าลองอ่านข้อสอบดู ข้อสอบข้อแกว่งทรงกระบอกกลวงใส่น้ำ จะมีส่วนที่ให้ทำ Iterative Method ของสมการกำลัง4 เพื่อหาความหนาทรงกระบอก ซึ่งผมลองแก้สมการโดยใช้โหมด SOLVE ได้คำตอบ 0.65 cm แต่ใช้ Iteration ได้ 1.7 cm ซึ่งทางคณิตศาสตร์นั้นเป็นคำตอบของสมการทั้งคู่ครับ (ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) แต่ความจริงทางฟิสิกส์มีหนึ่งเดียว นั่นคือทรงกระบอกมีความหนาได้ค่าเดียว ซึ่งเป็น 0.65 cm ครับ แต่! ผมไปเลือกใช้ค่าหลังคือ 1.7 เพราะเชื่อในคำตอบที่มาจากวิธีหลังมากกว่า ทำให้ตัวเลขต่างๆในข้อถัดๆไปเพี้ยนไปจากค่าจริงครับ ข้อผิดพลาดนี้จนถึงตอนนี้ผมยังคิดไม่ออกเลยครับว่าจะแก้อย่างไร

อยากให้เสนอแนวคิดการแก้ปัญหานี้กันด้วยครับ

3. ผมสะเพร่าย้ายข้างสมการผิดไป1จุดครับ ทำให้ค่าโมเมนต์แม่เหล็กของผมในข้อ1เพี้ยนไปจากค่าจริง
4. ผมไม่ได้แบ่งเวลาสำหรับการลอกคำตอบลงในกระดาษสรุปคำตอบสำหรับแล็บข้อ2ครับ ทำให้ผมรนมากตอนออดหมดเวลา ผมเขียนคำตอบลงกระดาษสรุปคำตอบไม่ทันซึ่งทำให้ผมกังวลในตอนแรกมากครับ แต่ตอนหลังค่อยโล่งอกเพราะกรรมการไม่คิดคะแนนในการลอกคำตอบลงกระดาษสรุป (แต่บางทีอาจจะโดนหักก็ได้ครับ นี่ผมยังโชคดี

)
5. ตอนแรกผมหาเทปผ้าที่ใช้ติดเชือกแขวนทรงกระบอกไม่เจอครับ เลยชูป้าย HELP เรียกอาจารย์มาดูว่าทำไมผมแขวนทรงกระบอกไม่ได้ ปรากฎว่าเทปผ้าซ่อนอยู่ใต้กองกระดาษของผมครับ -*- ทำให้กว่าผมจะติดตั้งทรงกระบอกได้ก็ใช้เวลาไปกว่าเกือบครึ่งชั่วโมง

(เสียเวลาไปมากเลยครับทำให้ผมลอกคำตอบลงกระดาษสรุปไม่ทัน)
สรุปวิธีที่ควรทำให้ห้องสอบคือ
1.เราควรจะบริหารเวลาดีๆครับว่าเราควรใช้เวลาในส่วนไหนน้อย(เช่นส่วนอารัมภบท) และใช้เวลาในส่วนไหนมาก(ส่วนที่ทำการทดลองจริง) เราควรทำการทดลองให้ละเอียดในขอบเขตของเวลาและคะแนนในแต่ละข้อครับ ข้อไหนคะแนนมากก็ทำละเอียด ข้อไหนคะแนนน้อยก็ทำแต่พอสมควรและอย่าสะเพร่าเท่านั้นพอครับ
2.เวลาเราได้คำตอบแต่ละข้อแล้วพอมีความมั่นใจว่าถูก ก็ให้รีบลอกลงกระดาษสรุปคำตอบทันทีครับ เราจะได้ไม่เสียเวลาภายหลัง
3.ตรวจสอบอุปกรณ์ว่ามีครบตามโจทย์หรือไม่และพยายามใช้ให้ครบครับถ้าทำได้ เพราะส่วนใหญ่อุปกรณ์ที่เขาให้มามักมีความจำเป็นทั้งสิ้น
4.ขอความช่วยเหลือ"ทันที" ถ้าเราสงสัยว่ามีบางอย่างขัดกับสิ่งที่เราคิดครับ อย่างเช่นถ้าเราติดตั้งอุปกรณ์ไม่ได้ ก็ให้รีบเรียกผู้คุมสอบทันทีครับ อย่าดันทุรังปรับต่อเองเพราะบางทีอุปกรณ์ที่ให้มาอาจไม่ครบหรือเสียโดยที่เราไม่รู้ก็ได้ครับ ทางกรรมการจะได้จัดเปลี่ยนให้และเราเองก็ไม่เสียเวลาครับ (บางทีเรียกมาแล้วปรากฎว่าเราทำพลาดเองก็ไม่เป็นไรครับ เขาไม่หักคะแนนเพราะเราเรียกเขามาดูอุปกรณ์หรอก

)
5.ตระหนักไว้ในใจเสมอว่า "ภาคปฏิบัติ สำคัญพอๆกับภาคทฤษฎี" ฉะนั้นเราไม่ควรละเลยการฝึกทำแล็บให้มากๆเลย
